วันที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 15.30 น. ณ ฟาร์มเห็ดแสงดาว อาจารย์นิลวรรณ สายสมบัติ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาจีน พร้อมด้วยคณาจารย์ และนักศึกษาสาขาวิชาภาษาจีนตามโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ระหว่างมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยกุ้ยหยาง สาธารณรัฐประชาชนจีน ศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ฟาร์มเห็ดแสงดาว โดยทางฟาร์มเห็ดแสงดาวให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและประทับใจ
อาจารย์นิลวรรณ สายสมบัติ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาจีน กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และมหาวิทยาลัยกุ้ยหยาง ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือทางวิชาการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่มีความเชื่อมโยงมายาวนาน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ มหาวิทยาลัยกุ้ยหยางได้มีความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยน อาจารย์ นักศึกษา และการสนับสนุนทางวิชาการร่วมกันมายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และมีการจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสองสถาบันอย่างต่อเนื่องมาแล้วจำนวน 4 ครั้งก่อเกิดมิตรภาพ และคู่บัดดี้ในการแลกเปลี่ยนความรู้ของนักศึกษาจากทั้งสองสถาบันในหลากหลายมิติ การทำกิจกรรมทางภาษาและวัฒนธรรมร่วมกันในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ลดอคติ เปิดใจกว้างต่อความแตกต่าง ส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการปรับตัวในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความเข้าใจในฐานะบทบาทพลเมืองโลกที่ต้องปรับตัวและสามารถใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารภายใต้ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต และการแสวงหาความรู้ต่อไป
อาจารย์นิลวรรณ สายสมบัติ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาจีน เผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และมหาวิทยาลัยกุ้ยหยาง ในครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ใต้ความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองสถาบัน โดยมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ยังถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและสร้างเครือข่ายทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอีกด้วย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการจากมหาวิทยาลัยกุ้ยหยางจำนวน 10 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สาขาวิชาภาษาจีน และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 40 คน โดยมีระยะเวลาการจัดกิจกรรม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 – 21 ธันวาคม 2567 รูปแบบกิจกรรมแบ่งออกเป็นการเรียนภาษาไทย การทำอาหารไทย การเรียนรู้การแปรรูปอาหารเกษตรและแปลงเกษตรเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมแลกเปลี่ยนศิลปะและดนตรีพื้นเมืองอีสาน เยี่ยมชมเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด และการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเมฆพยับหมอกครั้งที่ 7 เพื่อให้นักศึกษาทั้งสองสถาบันเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพทางภาษาของผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั้งสองสถาบัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคต