ประวัติมหาวิทยาลัย

บัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พุทธศักราช 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 86 ก เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ให้ควบรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งการควบรวมมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้จะเป็นการปรับปรุงการดำเนินการ และเป็นการลดความซ้ำซ้อนของสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยให้บทบาทหน้าที่ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2558 ว่าด้วยให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางวิชาการที่ให้ความรู้และความชำนาญในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพและวิชาชีพชั้นสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาและส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้บริการทางวิชาการแก่ท้องถิ่นและสังคม ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชน ทะนุบำรุงศาสนาศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬา รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมของรัฐและท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ข้อมูลพื้นฐานมหาวิทยาลัยเดิมก่อนมีการควบรวม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2482 ก่อตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แผนกเกษตรกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม และในปี พ.ศ. 2508 ได้รับการจัดตั้งเป็นเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ สังกัดกรมอาชีวศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากนั้น พ.ศ. 2518 ได้โอนมาสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรกรรมกาฬสินธุ์" ในปี พ.ศ. 2531 วิทยาลัยฯ ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และวิทยาเขตเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกาฬสินธุ์" และได้รับการยกฐานะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ จัดตั้งขึ้นตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2540 สมัยนายสุขวิช รังสิตพลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ขออนุมัติ และมีมติให้จัดตั้งสถาบันราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันราชภัฏชัยภูมิ สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ สถาบันราชภัฏนครพนม และสถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์ ในระยะแรกได้ดำเนินการในรูปของ "โครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์" ซึ่งสามารถเปิดรับนักศึกษาระดับอนุปริญญาได้เป็นครั้งแรก ในปีการศึกษา พ.ศ. 2542 และปริญญาตรี ในปีการศึกษา พ.ศ. 2544 ต่อมา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง "สถาบันราชภัฏ" และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มีผลให้สถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์เปลี่ยนสภาพเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์" การควบรวมมหาวิทยาลัย

การควบรวมมหาวิทยาลัย​

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. ..." ซึ่งจะเป็นการควบรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์เข้าด้วยกัน เป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยการผลักดันของนายเดชา ตันติยวรงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนางบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้เห็นด้วยและกลุ่มผู้คัดค้าน โดยให้เหตุผลการคัดค้านว่าจะทำให้สถานที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเดิมถูกทิ้งร้างไป ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหอพักที่เกิดขึ้นโดยรอบมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. ..." เพื่อลดความซ้ำซ้อนของสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกันซึ่งต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบให้ "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทย าลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. ..." ด้วยคะแนน 173-1 เสียง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2558" มีผลให้มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ สิ้นสุดสถานะความเป็นสถาบันอุดมศึกษาในวันถัดจากวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา และเป็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ขึ้นในวันเดียวกัน