มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จับมือ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) เพื่อการพัฒนาประมงในเชิงธุรกิจ

Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566  เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสำนักงานอธิการบดีและบริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง นายอรรถพงษ์ ศิริสุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ปฏิบัติราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ นายคมสันติ์ พินทะปะกัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักการผลิตปศุสัตว์ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) ว่าด้วยการร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการทางด้านวิชาการเพื่อการพัฒนาประมงในเชิงธุรกิจ สนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ด้านการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา การบริการทางวิชาการ การฝึกงาน การฝึกอบรม สหกิจศึกษา และการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภัคคิป ไกรโสดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา นายจิรบูรณ์ ประสารพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผลิตปศุสัตว์ (สัตว์น้ำ) และนายพิชิต ภาโนชิต ผู้อำนวยการผลิตปศุสัตว์ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ลงนามเป็นพยานตลอดจนคณะผู้แทนจาก บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมพิธีลงนาม

นายอรรถพงษ์ ศิริสุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และบริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้มีความร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาประมงในเชิงธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มีภารกิจดำเนินงานด้านการเรียน การสอน การวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการและการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกภาคปฏิบัติ รวมทั้งการจัดการฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการแก่เกษตรกร ตลอดทั้งเป็นพื้นที่ในการพัฒนางานวิจัย มหาวิทยาลัยจึงได้จังตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ขึ้น สถานการณ์ในปัจจุบันที่มีต้องการพัฒนาความรู้ทางวิชาการให้สามารถเข้าสู่ภาคธุรกิจเพื่อความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเป็นแหล่งฝึกงานที่ได้รับมาตรฐานสู่ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยจึงร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมในด้านการจัดการเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาประมงในเชิงธุรกิจเพื่อให้พื้นที่ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ และพื้นที่ในมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นศูนย์การฝึกสหกิจศึกษาให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย สามารถพัฒนางานวิจัย และมีการจัดการบริการทางวิชาการ ทางด้านการพัฒนาประมงในเชิงธุรกิจตามวัตถุประสงค์ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Share this post with your friends

Share on facebook
Share on google
Share on twitter
Share on linkedin