Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.27 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารปฏิบัติการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อพ.สธ. มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตำบลภูดิน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อาคารฯ ลักษณะเป็นอาคารปูน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,800 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการ, ห้องสำนักงาน, ห้องประชุม, ห้องจัดนิทรรศการ, และห้องงานระบบไฟฟ้า ถูกแบบให้มีความเรียบง่ายแต่ทันสมัย ตอบรับกับสภาพแวดล้อม และทิศทางลม ช่วยให้ประหยัดพลังงาน และมีฟังชันก์การใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งจะใช้สำหรับเป็นศูนย์ถ่ายทอดงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเนื่องมาจากพระราชดำริฯและเทคโนโลยีสู่ชุมชน, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแห่งที่ 26 ของประเทศ ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับศึกษาวิจัย และบริการด้านวิชาการ ที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน โอกาสนี้พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จำนวน 50 ราย จากนั้นทรงพระดำเนินเข้าภายในอาคารฯเพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการกิจกรรมการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย

— ห้อง 101 — นิทรรศการความมุ่งมั่นในการนำโครงการพระราชดำริ อพ.สธ. มาใช้พัฒนาคุณภาพพลเมืองของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน 3 กรอบ 8 กิจกรรม ได้แก่ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร, กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร, และกรอบการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร

— ห้อง 102 — นิทรรศการสารสนเทศงานวิจัยนวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้แก่ กระบวนการอบแห้งไม้ไผ่โดยเครื่องอบแห้งไม้ไผ่ ด้วยคลื่นไมโครเวฟร่วมกับระบบลมดูดเพื่อนำมาประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยไม้ไผ่ ใช้ในงานประเพณีบุญข้าวประดับดิน, การพัฒนาไก่พื้นเมืองในจังหวัดกาฬสินธุ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และด้านงานวิจัย ได้แก่ โครงการต่างๆ เกี่ยวกับสมุนไพรมะหาด ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การขยายพันธุ์ การสกัด การเก็บรักษา ตลอดจนการแปรรูป

— ห้อง103 — นิทรรศการผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อาทิ โครงการจัดทำฐานข้อมูลใบลานและจารึกภาคพื้นลุ่มน้ำปาวสู่ระบบฐานข้อมูลดิจิตอล KSU Manuscript เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่ได้อย่างยาวนาน การใช้สมุนไพรเพื่อความงามบนใบหน้าและผิวกายของชาวภูไทย อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ และ เครื่องขอดเกล็ดปลาระบบอัตโนมัติ

— ห้อง104 — นิทรรศการศูนย์แม่ข่ายและศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.- มกส. ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามแนวทางของ อพ.สธ. ปัจจุบันศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.- มกส. มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ 18 อำเภอ มีโรงเรียนและสถานศึกษาที่เป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 73 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น จำนวน 151 แห่ง

— นิทรรศการนอกอาคาร — ทอดพระเนตรนิทรรศการ ฐานทรัพยากรท้องถิ่น และสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ซึ่ง อพ.สธ.- มกส. มีเป้าหมายในการสนับสนุนและผลักดันให้สมาชิก มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น การเพาะขยายพันธุ์ไข่ผำ superfood ประโยชน์สูงจากท้องถิ่นโรงเรียนเทศบาล 4 เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดกาฬสินธุ์, และการแปรรูปบักแข้งขมหรือมะแว้ง พืชสมุนไพรท้องถิ่นเป็นชาและยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอ ของโรงเรียนเสลภูมิ (เส-ละ-พูม) จังหวัดร้อยเอ็ด— ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์

— จากนั้น ทอดพระเนตรกิจกรรมศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ ศูนย์เรียนรู้และห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ที่เชื่อมต่อระหว่างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เข้ากับประชาชนผู้ประกอบอาชีพในท้องถิ่น ให้ได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ได้แก่ การปลูกสมุนไพร ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สมุนไพรท้องถิ่นแก่คนในชุมชน เช่น มะหาด,เสลดพังพอน,และว่านตะขาบ กิจกรรมการเลี้ยงกระบือ มีการพัฒนาพันธุกรรม ยกระดับควายงานให้เป็นควายงาม การเลี้ยงโคเนื้อ,โคนม,สุกร,แพะ,ไก่ และ กุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์ และการเลี้ยงหงส์ดำ และกิจกรรมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้งด้วยระบบแสงเทียม ได้แก่เมล่อน, ผักสลัด, มะเขือเทศราชินีภาพข่าว

: ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล แก่นจันทร์ #มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น#มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์#มกส#งานสื่อสารองค์กร#KSU#KalasinUniversity

Share this post with your friends

Share on facebook
Share on google
Share on twitter
Share on linkedin