จากงานวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่ได้รับทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาจนเกิดศูนย์เรียนในชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้และทักษะในการสร้างอาชีพจากองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยและปราชญ์ประจำศูนย์เรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น.
ผศ.ดร.กิตติ์ธนัตถ์ ญาณพิสิษฐ์ และผศ.มนชยา สุภานุชาด ทีมวิจัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่ให้ Smart and Sustainable ผ่านความร่วมมือของ ปราชญ์ชาวบ้าน บ้าน วัด อปท. มหาวิทยาลัย และเครือข่ายสิ่งทอพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปีนี้ได้พัฒนาศูนย์เรียนรู้ของแม่ประกอบ ปัญจิต พร้อมเกิดหลักสูตรการเรียนรูอาทิ การฟอกย้อมไหมด้วยด่างธรรมชาติ การย้อมร้อนจากสีธรรมชาติในท้องถิ่น การย้อมไหมด้วยคราม และการออกแบบลายผ้าผู้ไท.
ศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยท่านพระครูโอภาสโพธินันท์ พร้อมกับ ผศ.ดร พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานพร้อมแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองช้าง ปลัดเทศบาลตำบลโพน ผู้ใหญ่บ้านหนองช้าง ตัวแทนกรมหม่อนไหม ทีมคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมกับสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองช้าง ร่วมงาน