ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง โดย รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้การต้อนรับ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติ
รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยสนับสนุนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สามารถสรุปผลดำเนินงานได้ดังนี้
(1)การสร้างการรับรู้ความยากจนร่วมกับภาคีความร่วมมือในจังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานเครือข่าย ตลอดจนการสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดในการนำข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือระดับพื้นที่และระดับจังหวัด
(2)การค้นหา การสอบทานข้อมูลคนจนจากฐานข้อมูล TPMAP ฐานข้อมูลของจังหวัดในโครงการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและคนจนร้อยละ 20 ล่าง ครบทั้งหมด
(3) สามารถจัดทำระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ คือ ระบบสารสนเทศ KHM V.2: คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ระบบสารสนเทศเพื่อนำข้อมูลมาสู่การพัฒนาครัวเรือนคนจนได้ และเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการช่วยเหลือคนจนเป้าหมายของหน่วยงานพื้นที่ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และท้องถิ่นที่มีความแม่นยำ
(4) มีการส่งต่อข้อมูลครัวเรือนยากจนจากระบบฐานข้อมูลไปสู่กลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน ร้อยละ 100
(5) มีโมเดลแก้จนที่ได้มีการออกแบบพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยการนำองค์ความรู้งานวิจัยบูรณาการร่วมกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทกลุ่มเป้าหมาย และสามารถนำบทเรียนดังกล่าวมาขยายผลไปยังพื้นที่อื่นได้
(6)การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่เป้าหมายประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้มีการขับเคลื่อนโดยใช้นวัตกรรมเชิงกระบวนการมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนเมืองภายใต้ “Local Data Ownership Model” คนจนตามมาตรฐานและข้อมูลของตนเอง 2) ตำบลนามน อำเภอนามน มีการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “ธุรกิจชุมชน” และนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตผ่านรูปแบบ “ผักปลอดภัยไร้จนตำบลนามน” ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนเที่ยง และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการรายย่อย และ 3) ตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ ใช้แผนพัฒนาครัวเรือนตามความต้องการ และทักษะความสามารถของคนจนเป้าหมาย โดยมีการขับเคลื่อนผ่านโมเดล “เห็ดฟางสร้างสุข” และเชื่อมต่อกับการพัฒนานวัตกรรมกองทุนบุญชุมชนให้เข้ามาต่อยอดเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาอาชีพ และใช้ KHM V.2 เพื่อบริหารข้อมูลความยากจนแบบร่วมมืออย่างครบวงจร จากการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 3 สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากนี้ในปีที่ 3 การดำเนินงานยังสามารถหนุนเสริมกระบวนการทำงานของ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านกลไก ศจพ. ในทุกระดับ ได้เป็นอย่างดี
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาความยากจนถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมายาวนานของประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการแก้ปัญหาได้คำนึงถึงศักยภาพที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่และการพัฒนาเชิงพื้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนคนจนให้ดีขึ้น เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวจังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้ดำเนินโครงการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Kalasin Happiness Model, KHM) เพื่อแก้ไขความยากจนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ตามที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยได้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งมีการดำเนินการในด้านการค้นหา สอบทานข้อมูลที่แม่นยำและเป็นปัจจุบัน เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เกิดการช่วยเหลือผ่านโครงการนำร่องและหน่วยงานตามภารกิจ รวมไปถึงการนำออกของข้อมูล เพื่อเป็นกลไกในการหนุนเสริมระบบการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลการดำเนินการดังกล่าวสามารถหนุนเสริมภารกิจการดำเนินของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ได้เป็นอย่างดี