มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ร่วมวางแผนและระดมความคิด กำหนดทิศทางและวางแผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (Reinventing Kalasin University)
ระหว่างวันที่ 2 – 3 พฤศจิกายน 2563 ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง สภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้บริหาร บุคลากรมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยได้ร่วมวางแผนและระดมความคิด เพื่อกำหนดทิศทางและวางแผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (Reinventing Kalasin University)
โดยแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 การดำเนินแผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยรายหน่วยงาน
ระหว่างวันที่ 6 – 31 ตุลาคม 2563 กิจกรรมที่ 2 การดำเนินแผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแบ่งกลุ่มปรับปรุงร่างแผนและประชาพิจารณ์ ระยะเวลาดำเนินการ : วันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2563 และกิจกรรมที่ 3 การดำเนินแผนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยร่วมกับสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ระยะเวลาดำเนินการ : วันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2563
การจัดบรรยายพิเศษโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้จัดขึ้น โดยเป็นการ นำเสนอภาพรวมของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย จากผลการศึกษาการวิจัยเชิงพื้นที่ การบริการวิชาการ และระบบสนับสนุน ในรูปแบบ Ted – Talk หลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ภาพรวมการพลิกโฉมในส่วนของมหาวิทยาลัย คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะบริหารศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ คณะศิลปศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมทางการศึกษา สำนักงานอธิการบดี สถาบันวิจัยและพัฒนา และสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โดยมี การรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบด้วยภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อให้มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ก้าวทันต่อพลวัตทางการศึกษาสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศและทิศทางของการพัฒนา อุดมศึกษาตามกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี มหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์และพื้นที่ใกล้เคียง ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอันดับ 1 ของประเทศภายในปี 2570” โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเชิงกลยุทธ์เชิงพื้นที่และชุมชนในท้องถิ่น