ม.กาฬสินธุ์ อบรมถ่ายทอดกระบวนการฟอกย้อมสีสิ่งทอพื้นบ้าน เพื่อก้าวสู่มาตรฐาน ภายใต้โครงการ Kalasin City : Traditional and Creative Textiles.
วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ห้องเรียนรวม ๒ ชั้น ๑ อาคารบริการการศึกษาและบริการกลาง รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการอบรมถ่ายทอดกระบวนการฟอกย้อมสีสิ่งทอพื้นบ้านให้มีมาตรฐาน ภายใต้โครงการ Kalasin City : Traditional and Creative Textiles. โครงการย่อย ภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมือง กิจกรรมที่ ๒ กระบวนการฟอกสี-ย้อมสี สิ่งทอพื้นบ้าน
รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน กล่าวว่า นับว่าเป็นสิ่งน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับทุกท่านที่มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ของเรา ได้พยายามส่งเสริมและสนับสนุนเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยใช้ความสามารถของคณาจารย์จากคณะวิชาต่าง ๆ มาช่วยพัฒนาศักยภาพของผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่โดดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดย มหาวิทยาลัยได้จัดทำศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านผ้าทอพื้นเมือง ของจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงถือเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่ การจัดอบรมในวันนี้ จะช่วยท้องถิ่นพัฒนาศักยภาพและยกระดับผ้าทอพื้นบ้าน สืบสานงานทอผ้าพื้นเมืองอย่างครบวงจร ซึ่งทุกท่านเองก็เริ่มเห็นผลลัพธ์ชัดเจนที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา
นายธวัชชัย เคหะบาล ตัวแทนผู้ดำเนินโครงการอบรม กล่าวว่า ตามที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้วางประเด็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด เรื่อง การพัฒนาผ้าไหมแพรวา ผลิตภัณฑ์ OTOP และการท่องเที่ยว ให้เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยได้กำหนดเป้าประสงค์ยุทธศาสตร์ คือ การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานผ้าไหมแพรวาและผลิตภัณฑ์ OTOP และเพิ่มช่องทางการตลาดสู่สากล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ให้ความสำคัญของผ้าไหมแพรวาเป็นลำดับแรกของผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว และได้พัฒนาผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ ทั้งการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพให้แก่ช่างทอในทุกพื้นที่ นั้น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นบ้าน จึงได้จัดให้มีการอบรมถ่ายทอดกระบวนการฟอกย้อมสีสิ่งทอพื้นบ้านให้มีมาตรฐาน ในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนและออกแบบการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมกลุ่ม OTOP ในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๑๖ กลุ่ม ให้ได้มาตรฐานนกยูงพระราชทาน ซึ่งจัดในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ห้องเรียนรวม ๒ ชั้น ๑ อาคารบริการการศึกษาและบริการกลาง และ และ บ้านเฮือนนาดอน ออนซอนวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่นามน
[ngg src=”galleries” ids=”73″ display=”basic_thumbnail”]