เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. ณ ห้องราชพฤกษ์ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น ๑๔ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ “มกส.” อีกฝ่าย นายสุรพล พลอยสุข ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ“สคช.” ได้ทำ“บันทึกความเข้าใจความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยภายใต้ระบบ E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งมีผู้เข้าร่วมในการลงนามในครั้งนี้ประกอบด้วย นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายอัฐพล ไชยอนันต์ นายกสมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย นางสาวเนาวรัตน์ อัศวีนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบบีเคเค ดอท คอม จํากัด นางสาวกุลนันท์ พันธุ์อนุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ดไวซอรี่ จำกัด การทำบันทึกความร่วมมือฉบับนี้อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือของทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะ เชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกำลังคนบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem Platform) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม อัจฉริยะดังกล่าว วัตถุประสงค์ความร่วมมือ ๑. เพื่อสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันของข้อมูลด้านแรงงานและกำลังคนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ๒. เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาแรงงานของประเทศ และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งใช้ในการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนของประเทศ ๓. เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce EcosystemPlatform) โดยรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยภายใต้ระบบ E-Workforce Ecosystem Platform กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในวันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวดเร็ว ทำให้ทุกภูมิภาคของโลกสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าทัน เชื่อมต่อกันอย่างไร้พรหมแดน ซึ่ง E-Workforce Ecosystem Platform จะช่วยให้นักศึกษาสามารถเก็บสะสมประวัติการเรียน ประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรมแบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีช่องทางการหางานทำได้อย่างมีระบบ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้มีการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคคลากรของมหาวิทยาลัยเข้าใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) บน E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งมีผลการตอบรับจากนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสืบไป