การแถลงนโยบายโครงการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในจังหวัดกาฬสินธุ์
วันที่ 24 กันยายน 2563 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้จัดแถลงนโยบายโครงการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเจ้าของโครงการ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานการแถลงนโยบายหลักในฐานะผู้รับผิดชอบหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา ภายใต้แนวคิด “ลดเวลาเรียน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มทักษะวิชาชีพ เพิ่มรายได้ระหว่างเรียน และเพิ่มโอกาสการมีงานทำ”โดยมีวิทยาลัยสารพัดช่างกาฬสินธุ์ โรงเรียนกมลาไสย โรงเรียนร่องคำ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมทำข้อตกลงในครั้งนี้ด้วย “ลดเวลาเรียน” คือ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จัดการเรียนการสอนให้สามารถเรียนล่วงหน้าได้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอาชีวศึกษาซึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยในกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปและกลุ่มวิชาชีพ สำหรับกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปสามารถสะสมได้ 30 หน่วยกิตเพื่อนำมาใช้เทียบโอนได้ โดยมหาวิทยาลัยจะเปิดให้มีการสอบเพื่อเทียบโอนทั้งรายวิชาและเทียบโอนประสบการณ์ ตลอดจนการเทียบโอนรายวิชาภาษาต่างประเทศสามารถนำเอาผลการทดสอบวัดความรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล CEFR ที่ประกาศโดยกระทรวงศึกษาธิการมาใช้เทียบโอนได้ เช่น ผลการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL /TOEIC/ IGP เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดเวลาเรียนจากเดิม ปริญญาตรี 4 ปี อาจจะใช้เวลาเพียง 3 ปี หรือ 3 ปีครึ่ง ก็สามารถจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและได้งานทำ “ลดค่าใช้จ่าย” คือการลดค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายจากการศึกษาเนื่องจากเวลาเรียนลดลง และได้รับสวัสดิการและค่าตอบแทนจากสถานประกอบการขณะปฏิบัติงานจริงระหว่างเรียน “เพิ่มทักษะวิชาชีพ” คือการทำงานจริงกับสถานประกอบการทำให้ได้ประสบการตรงที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพ และสามารถทำงานได้จริงและตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ “เพิ่มรายได้ระหว่างเรียน” คือการมีรายได้และได้รับสวัสดิการจากการทำงานในสถานประกอบการระหว่างเรียน ซึ่งจะมีทั้ง 1 ปี หรือ 2 ปี เป็นต้น “เพิ่มโอกาสการมีงานทำ” คือการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาในโครงการ โดยให้สำเร็จการศึกษาเร็วขึ้น เพื่อสร้างเวลาและโอกาสในการมีงานทำ และในขณะเดียวกันก็ให้โอกาสเพื่อเรียนรู้และฝึกประสบการวิชาชีพจริงในสถานประกอบการอันเป็นการสร้างบุคลากรให้กับสถานประกอบการอีกหนึ่งช่องทาง นายพูลศักดิ์ เสนฤทธิ์ ผู้อํานวยการโรงเรียนกมลาไสย กล่าวถึงความภูมิใจในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ว่า ผมมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการทําข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการนี้ นับว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์กับนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โครงการนี้ทําให้นักเรียนจบได้เร็วกว่าปกติ 1 ปี ผู้ปกครองสามารถลดรายจ่ายทั้งค่าหน่วยกิต ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนในเวลา 1 ปี คิดเป็นเงินจํานวนไม่น้อย ที่สําคัญทางมหาวิทยาลัยยังออกใบรับรองการจบหลักสูตรให้นักเรียนสามารถไปทํางานในสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐได้ทันทีจึงเป็นการได้รับผลประโยชน์ 2 เท่าตัว
นายวาทิช ผ่านสำแดง ผู้อำนวยการ วิทยาลัยสารพัดช่าง กล่าวถึงความพร้อมในการรองรับหลักสูตรความร่วมมือในครั้งนี้ว่า วิทยาลัยสารพัดช่างกาฬสินธุ์ ได้พัฒนาหลักสูตรเชื่อมโยงกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ตามโครงการของศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในสาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนและมีความต้องการสูงของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาด้านแรงงานจำเป็นต้องนำหุ่นยนต์หรือ ระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน ดังนั้นการจัดอาชีวศึกษาต้องผลิตบุคคลากรที่ออกไปรองรับความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเพื่อเข้าไปควบคุมหรือออกแบบระบบในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้นสาขานี้ยังไปสอดรับกับนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ ของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งนับว่ามีความพร้อมในการจัดารเรียนการสอน นายปริญญา พิมพะนิตย์ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนร่องคำ ได้กล่าวถึงความมุ่งหวังในการพัฒนาตามความโดดเด่นในข้อตกลง MOU ครั้งนี้ว่า เป็นความร่วมมือในการพลิกโฉมการศึกษาเพื่อการมีงานทำที่จะสร้างนักเรียนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม หุ่นยนต์ และสาขาอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันบุคลากรด้านดังกล่าวยังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอย่างมาก และนักเรียนสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข ประหยัดงบประมาณ ลดระยะเวลาในการเรียน และสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น ดร.ทวีภรณ์ วรชิน ผู้อำนวยการ โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ กล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ว่า ข้อดีและประโยชน์ที่ได้จากการทำหลักสูตรเชื่อมโยง มี 3 กรณี คือ ประโยชน์ที่เกิดกับนักศึกษา นักเรียน และครู กล่าวคือ นักศึกษาสามารถ ลดเวลา เรียนจบเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียน และมีรายได้ระหว่างเรียนจากการฝึกงาน ส่วนนักเรียนได้เรียนรู้ในรายวิชาที่ท้าทาย สนุก และทันสมัยมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสำผัสกับมหาวิทยาลัยใกล้ชิดยิ่งขึ้น ค้นพบเป้าหมายชีวิตตัวเองได้ชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น และครู ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง เช่น เข้าอบรมเสริมความรู้จากอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย ได้ผลงานจากการทำบทเรียนออนไลน์ร่วมกับมหาวิทยาลัย