ม.กาฬสินธุ์ ตอกย้ำบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สู่การเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ชั้น 5 อาคาร 15 คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง ดร.ศักดิ์เกษม ปานะลาด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการสรุปผลการดำเนินงานการยกระดับผู้ประกอบการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) พร้อมกับการจัดเสวนาเชิงวิชาการเพื่อถอดบทเรียนการสร้างกลไกและกระบวนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคม โดยมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่น และเป็นที่รู้จักด้านความเป็นเลิศทางวิชาการและงานวิจัย พร้อมทั้งความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ได้จัดกิจกรรมสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนในพื้นที่ กิจกรรมสรุปผลการดำเนินงาน ถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดเสวนาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการในจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่สนใจ จำนวนทั้งสิ้น 120 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาท้องถิ่นและขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน
ดร.ศักดิ์เกษม ปานะลาด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวถึง เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมการสรุปผลการดำเนินงานการยกระดับผู้ประกอบการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) และการจัดเสวนาเชิงวิชาการเพื่อถอดบทเรียน การสร้างกลไกและกระบวนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) ครั้งนี้แล้วหวังว่า เครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) จะเป็นกลไกสำคัญร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้อย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทีมนักวิจัยในโครงการวิจัย “การพัฒนายุทธศาสตร์ขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมด้วยกลไกความร่วมมือในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ 2567” และเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) จะเป็นกลไกสำคัญร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดกาฬสินธุ์
นายมารุต พลรักษา ในนามทีมนักวิจัยผู้รับผิดชอบกิจกรรมที่ 6 “การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) และต้นแบบศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เชื่อมโยงกลุ่มครัวเรือนยากจน” ภายใต้โครงการวิจัยข้างต้น ได้รายงานถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน โดยกิจกรรมนี้ได้ดำเนินงานตามแผนระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ถึง 31 พฤษภาคม 2568 เพื่อถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทของพื้นที่ และจัดเสวนาเพื่อถอดบทเรียนกระบวนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ได้แก่ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานการยกระดับผู้ประกอบการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) พร้อมทั้งมอบใบรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมให้กับกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 14 ราย ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสมุนไพรแม่รวมใจ ตำบลกุดหว้า วิสาหกิจชุมชนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวศพก. กุดหว้า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักอินทรีย์กุดหว้า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรปลอดภัย ดงสว่าง-จันทร์เจริญ ตำบลสงเปลือย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคกหนองนาเจ้าท่าสามัคคี วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองห้าง วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลากดุกบิ๊กอุยบ้านโปโล วิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงรวม (นาสารกรีน) สหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วยในเขตปฏิรูปที่ดิน จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ศพก. กุดหว้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด สวนทางฟาร์มสเตย์ บริษัท กาฬสินธุ์ เกื้อบุญ จำกัด และบริษัท ปันบุญ ออร์แกนิก จำกัด เพื่อจัดเสวนาเชิงวิชาการเพื่อถอดบทเรียนการสร้างกลไกและกระบวนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) และกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Pre-SE) เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ภาพ/ข่าว : ปนัดดา โมกขะรัตน์