ม.กาฬสินธุ์ เปิดค่ายนักวิจัย มุ่งยกระดับงานวิจัย หนุนตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติระดับ Q1-Q2
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2568) เวลา 15.00 น. รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ สุดสนธิ์ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการหลักสูตรค่ายนักวิจัย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมพยับหมอก ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดีและบริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมืองโครงการนี้เป็นการบูรณาการงบประมาณร่วมกับแผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งและธรรมาภิบาลจัดการแผนงานและโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Fundamental Fund) กิจกรรมย่อยที่ 3 การอบรมเชิงปฏิบัติการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการที่มีผลกระทบสูง (Q1-Q2) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 พฤษภาคม 2568
รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวรายงานว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในด้านการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีคุณภาพสูง (Q1-Q2) สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์การคัดเลือกและการประเมินบทความ รวมถึงแนวทางการนำเสนองานวิจัยให้ผ่านการพิจารณาในระดับสากล ตลอดจนสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมให้บุคลากรสามารถผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและเผยแพร่ในระดับสากลได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และยกระดับมหาวิทยาลัยฯ ในด้านการวิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำภาศรี พ่อค้า รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้กล่าวต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมการอบรม พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ให้ก้าวหน้าต่อไป โครงการนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ ปิตาคะโส คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ดร.สุรเจษฐ์ ก้อนจันทร์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนัดกิจ ศรีโชค อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 100 คน
รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ สุดสนธิ์ กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับศักยภาพของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้สามารถพัฒนาและเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับสากล โดยเฉพาะในวารสารวิชาการที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพงานวิจัย การจัดอันดับของมหาวิทยาลัย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ตระหนักดีว่าการตีพิมพ์ในวารสารระดับ Q1-Q2 ต้องอาศัยความรู้เชิงลึก ทักษะการออกแบบงานวิจัย และความสามารถในการเขียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งการอบรมนี้จะช่วยเติมเต็มทักษะดังกล่าวผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ
ภาพ/ข่าว : ปนัดดา โมกขะรัตน์