ม.กาฬสินธุ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) เสริมศักยภาพนักวิจัย ภายใต้โครงการหลักสูตร “ค่ายนักวิจัย” ปีงบประมาณ 2568
วันนี้ (1 พฤษภาคม 2568) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมพวงชมพู ชั้น 1 คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่ในเมือง) สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยที่ 2 ภายใต้โครงการหลักสูตรค่ายนักวิจัย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเป็นการบูรณาการงบประมาณร่วมกับแผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งและธรรมาภิบาลจัดการแผนงานและโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Fundamental Fund) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน จากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวาพร ฟองทอง พร้อมด้วยผู้ช่วยวิทยากรอีก 3 ท่าน จากคณะเศรษฐศาสตร์ การอบรมในครั้งนี้มีคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 60 คน โครงการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมพวงชมพู ชั้น 1 คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (พื้นที่ในเมือง)
การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ให้แก่นักวิจัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และสื่อสารคุณค่าของโครงการวิจัยและพัฒนาที่มีต่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีมาตรฐาน เนื้อหาการอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ครอบคลุมตั้งแต่หลักการพื้นฐานของ SROI ที่มา การนำไปใช้ในประเทศไทย ขั้นตอนการทำ SROI และข้อควรระวัง ไปจนถึงการฝึกปฏิบัติการระบุและประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การใช้ Theory of Change ในการวิเคราะห์โครงการ และการทำความเข้าใจแนวคิดสำคัญในการประเมินผลกระทบ เช่น Deadweight, Attribution, Displacement, Time frame, Drop-off
ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรมกลุ่ม โดยได้ฝึกการเลือกโครงการวิเคราะห์ กำหนดกิจกรรม ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฝึกหา Output, Outcome และ Financial Proxy รวมถึงการคำนวณผลตอบแทน SROI และนำเสนอผลการวิเคราะห์ของกลุ่ม ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เข้มข้นนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความพร้อมที่จะนำความรู้ด้าน SROI ไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยและโครงการของตนเองเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมที่วัดผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตามพันธกิจหลักของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยของคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับหน่วยงานภายนอก เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรม และนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศอย่างยั่งยืน
ภาพ/ข่าว : ปนัดดา โมกขะรัตน์