มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์สารสนเทศกระบือนานาชาติ กรมปศุสัตว์ และคนเลี้ยงกวายลุ่มน้ำปาวจังหวัดกาพสินธุ์ การจัดงานมหกรรมการประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นการรวมสุดยอดควายไทยทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริม พัฒนา อาชีพการเลี้ยงควายอาชีพเงินล้าน
วันนี้ (29 มิถุนายน 2567) เวลา 10.00 น. ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมงานเกษตรแฟร์กาฬสินธุ์ ครั้งที่ 3 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวต้อนรับ และ นางรำไพ ภูวราห์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมจิตร์ กันธาพรม หรือ ดร.ต๋องคนเลี้ยงควาย อาจารย์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเกษตรกรอาชีพเลี้ยงควาย และฟาร์มเลี้ยงควายจากทั่วประเทศ นำควายเข้าร่วมการประกวดกว่า 200 แห่ง
นางรำไพ ภูวราห์ นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับงานมหกรรมประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็น ครั้งที่ 2 เป็นการประกวด ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 -30 มิถุนายน 2567 ในงานเกษตรแฟร์กาฬสินธุ์ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะเกษตร ศูนย์สารสนเทศกระบือนานาชาติ กรมปศุสัตว์ และคนเลี้ยงกวายลุ่มน้ำปาว จ.กาพสินธุ์ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริม พัฒนา อาชีพการเลี้ยงควาย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เป็นแหล่งพบปะสำหรับกลุ่มคนเลี้ยงควาย และผู้สนใจ เปิดโลกควายไทยให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น
ด้าน รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เพราะควายถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในวิถีชีวิตของชาวนาไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการไถนาหรือการขนส่ง ควายยังเป็นสัญลักษณ์ของความขยันขันแข็งและความพยายาม นอกจากนี้การแข่งขันควายยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีและความสุขของชุมชนอีกด้วย ซึ่งวันนี้จะได้เห็นควายที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีจากผู้เข้าแข่งขันที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และไม่เพียงแต่จะได้เห็นความสามารถของควาย แต่ยังได้เห็นความร่วมมือและความพยายามของผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน เป็นการรวมสุดยอดควายไทย เป็นการรวมสุดยอดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีราคาหลักล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาท สำหรับการแข่งขันประกอบไปด้วยหลายประเภท ทุกกิจกรรมเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความรักในควายซึ่งเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าในวัฒนธรรมไทย
ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร